ชื่อเรื่อง       การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2

               โรงเรียนมัธยมดงยาง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม

ผู้วิจัย        นางเบญจวรรณ พลคำ

สถานศึกษา  โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม

               องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม

ปีที่วิจัย       2560

บทคัดย่อ

              การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์    1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในด้านความรับผิดชอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมดงยาง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม 2) เพื่อพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่2 โรงเรียนมัธยมดงยาง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม 3)เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่2 โรงเรียนมัธยมดงยาง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม แบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ คือ                 

           ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ในการเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ได้มาโดยจากเลือกแบบเจาะจงจากจำนวนนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จาก 20 โรงเรียน จำนวน 263 คน

           ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมดงยาง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษา จำนวน 7 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง

            ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้โปรแกรมการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมดงยาง   สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนมัธยมดงยาง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม

            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) โปรแกรมส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียน 2) แบบวัดพฤติกรรมความรับผิดชอบของนักเรียน 3) แบบสอบถามความพึงพอใจ และ 4) แบบประเมินความเหมาะสมของโปรแกรม สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ

                ผลการวิจัยพบว่า

              1. สภาพปัจจุบันนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  1.1) มีพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.31 และสภาพที่พึงประสงค์ในการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.11 หมายความว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส่วนใหญ่มีความต้องการให้มีการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง และสภาพปัจจุบันนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 1.2) มีพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.22 และสภาพที่พึงประสงค์   ในการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.17 หมายความว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส่วนใหญ่มีความต้องการให้การส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

               2. การพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีผลการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิโดยรวมมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก โปรแกรมมีองค์ประกอบสำคัญคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และการประเมินผล โปรแกรมมีเนื้อหามุ่งให้ความรู้ความเข้าใจความหมาย การเสริมสร้างความรับผิดชอบ และฝึกปฏิบัติด้วยกิจกรรม 10 กิจกรรม วิธีการพัฒนาคือ การฝึกปฏิบัติ การศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการแลกเปลี่ยนความคิด

                3. ผลการใช้โปรแกรมส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สรุปได้ดังนี้

                   3.1 โปรแกรมส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.63/87.80 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80

                   3.2 นักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมทักษะชีวิตด้านความรับผิดชอบ มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก